โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ การันตีการเป็นนักเตะดีที่สุดในโลกปี 2020 มาจากการกวาดทุกความสำเร็จกับ บาเยิร์น มิวนิค และทุกความสำเร็จส่วนตัวเท่าที่สามารถทำได้ ยกเว้นเพียง ‘บัลลง ดอร์’ เนื่องจากนิตยสาร ‘ฟร้องซ์ ฟุตบอล’ ไม่จัดพิธีมอบรางวัลในปีนี้เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ’โควิด-19′ เลวานดอฟสกี้ ทำ 55 ประตูจากการลงเล่น 47 เกมในฤดูกาลที่ผ่านมา นับเฉพาะบนเวทีบุนเดสลีกา กด 34 ประตูจากการลงเล่น 31 เกม หัวหอกชาวโปลยังสานต่อผลงานจนถึงซีซั่นนี้ หลังทำ 19 ประตูจากการลงเล่นลีกเมืองเบียร์ 13 เกม มีค่าเฉลี่ยยิงนัดละ 1.36 ประตู และยิงรวม 22 ประตูจากการลงเล่นทุกรายการ 19 นัด
ถ้าหาก เลวานดอฟสกี้ ยังรักษามาตรฐานต่อเนื่องตลอดฤดูกาล เขาสามารถจบการเล่น 34 เกมด้วยผลงาน 51 ประตู ซึ่งจะเป็นการทำลายสถิติลีกเมืองเบียร์ที่ แกร์ด มุลเลอร์ ตำนานกองหน้าทีมชาติเยอรมันตะวันตกเคยกระทุ้ง 40 ประตูในซีซั่น 1971-1972
ก่อนหน้านี้มีเพียง 3 คนที่ขยับเข้าใกล้สถิติดังกล่าว นั่นคือ แกร์ด มุลเลอร์ ที่ยิง 36 ประตูในฤดูกาล 1972-1973 ตามมาด้วย ดีเตอร์ มุลเลอร์ อดีตกองหน้า เอฟซี โคโลญจน์ ที่กด 34 ประตูในซีซั่น 1976-1977 และ เลวานดอฟสกี้ ในฤดูกาลที่ผ่านมา
ด้าน โธมัส มุลเลอร์ กองหน้าเพื่อนร่วมทีม เชื่อมั่นว่า เลวานดอฟสกี้ จะสร้างชื่อกระหึ่มด้วยการสร้างสถิติใหม่ประดับวงการลูกหนังในปีนี้
‘เมื่อคุณเห็นการทำประตูของ (เลวานดอฟสกี้) ทำประตูได้สม่ำเสมอแค่ไหน มันอยู่ในขอบเขตของความเป็นไปได้แน่นอน’ มุลเลอร์ กล่าวถึงกองหน้าทีมชาติโปแลนด์ในงาน เดอะ เบสต์ ฟีฟ่า ฟุตบอล อวอร์ด ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
การไล่ล่าสถิติ แกร์ด มุลเลอร์ ของ เลวานดอฟสกี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถิติดาวซัลโวที่ยาวนานหลายสถิติในวงการลูกหนังโลก
ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ลิโอเนล เมสซี่ ทำลายสถิติของ เปเล่ ตำนานลูกหนังบราซิลฐานะนักเตะที่ทำประตูกับการเล่นสโมสรเดียวมากสุดที่อยู่มานานเกือบ 50 ปี สมัยที่ค้าแข้งกับ ซานโตส โดยยิง 643 ประตูในช่วงปี 1956-1974
ตามมาด้วย คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ยิง 758 ประตูในอาชีพแซงหน้าสถิติเก่าของ เปเล่ จากที่ค้าแข้งในช่วงปี 1956-1977 ตามหลังเฉพาะ โจเซฟ บีคาน กองหน้าชาวเชโกสโลวาเกียที่ทำ 805 ประตูจากการลงเล่น 530 เกมในช่วงปี 1931-1955
อนสื่อจะแฉว่าตำนานลูกหนังเมืองกาแฟจะแก้ไขข้อมูลในอินสตาแกรมว่าเขาทำรวมกัน 1,091 ประตู กลายเป็นข้อถกเถึยงจนถึงปัจจุบันว่าคุณลุงเปเล่ยิงได้เท่าไหร่ตลอดอาชีพค้าแข้ง ไม่มีใครเถียงว่า เลวานดอฟสกี้ เป็นนักเตะดีที่สุดในโลกในปี 2020 กองหน้าทีมชาติโปแลนด์เป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญกว่าสำหรับ บาเยิร์น มิวนิค และเขาถูกกองหลังฝ่ายตรงข้ามจับจ้องแบบไม่ละสายตา แต่ ‘เลวี่’ ยังแสดงให้เห็นถึงพิษสงรอบตัวในการทะลวงประตูคู่แข่งและหลายประตูสำคัญมากและมีส่วนตัดสินเกม
เลวานดอฟสกี้ ทำ 255 ประตู จากการลงเล่น 334 เกม ซึ่งเป็นการทำในช่วงครึ่งเวลาหลัง 146 ประตู หรือคิดเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากต้องการเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นสามารถแบ่งช่วงเวลาการทำประตูของ เลวานดอฟสกี้ เป็นควอเตอร์หรือบล็อคเวลา 15 นาที เลวานดอฟสกี้ ทำ 31 ประตูในช่วงนาที 1-15, ทำ 35 ประตูในช่วงนาที 16-30, 38 ประตูในช่วงนาที 31-45, 49 ประตูในช่วงนาที 46-60, 41 ประตูในช่วงนาที 61-75 และ ทำ 47 ประตูในช่วงนาที 76-90 หากนับเฉพาะการทำประตูช่วงทดเวลาบาดเจ็บในช่วงครึ่งแรก 5 ประตูและอีก 9 ประตูในช่วงทดเวลาบาดเจ็บครึ่งหลัง
หัวหอกชาวโปลยังเคยสร้างประวัติศาสตร์ฐานะผู้เล่นที่ทำ 5 ประตูรวดด้วยเวลา 9 นาที จากการลงเล่นช่วงหลังครึ่งในเกมแซงชนะ โวล์ฟสบวร์ก 5-1 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2015 กลายเป็นช่วงเวลาที่ ‘เลวี่’ กระทุ้งคู่แข่งมากสุด แน่นอนว่าการออกกำลังกายมีส่วนสำคัญต่อทั้งหมด หลัง ‘เดอะ บอดี้’ (ฉายา เลวานดอฟสกี้) ทำงานในส่วนดังกล่าวอย่างพิถีพิถันเพื่อปรับแต่งร่างกายของเขาและทำให้ตนเองเป็นหนึ่งในนักกีฬาดีที่สุดในโลก
นั่นทำให้ดาวยิงทีมชาติโปแลนด์พลาดการลงเล่นเพียง 17 เกมจากการบาดเจ็บตลอดช่วง 11 ฤดูกาลที่ค้าแข้งกับ บาเยิร์น มิวนิค และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ นอกจากนี้เขายังลงเล่นครบ 90 นาที ถึง 240 จาก 308 เกม ถึงแม้จะมีภาระหนักอึ้ง แต่ เลวานดอฟสกี้ ไม่ได้แสดงอาการเหนื่อยล้า แต่กลับเป็นภัยคุกคามแนวรับคู่แข่งมากขึ้น มันไม่ใช่ปรากฎการณ์ แต่เกิดขึ้นในขณะที่เขาพัฒนาไปสู่สิ่งดีที่สุดในโลก
ช่วงเวลาที่เขาเริ่มต้นกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซีซั่น 2010-2011 เลวานดอฟสกี้ ทำประตูค่อนข้างช้า แต่เป็นประตูที่มีความสำคัญ การทำ 4 ประตูแรกบนเวทีบุนเดสลีกาของ ‘เลวี่’ เกิดขึ้นในช่วงนาที 75 หรือหลังจากนั้น ขณะที่สองประตูถัดไปของหัวหอกโปลเกิดขึ้นในช่วง 2 นาทีสุดท้ายของครึ่งแรก มันพิสูจน์ให้เห็นว่าเขายังมีสมาธิกับเกมตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่จิตใจล่องลอยไปถึงช่วงพักครึ่ง
เลวานดอฟสกี้ ยังโดดเด่นในช่วง 2 ฤดูกาลสุดท้ายกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เขาทำ 13 ประตูจาก 44 ประตูในซีซั่น 2012-2013 และ 2013-2014 ตั้งแต่นาที 76 เป็นต้นไป
แม้ตัวเลขดังกล่าวจะตกลงไปในช่วง 2 ปีแรกที่เล่นกับ บาเยิร์น มิวนิค ยุค เป๊ป กวาร์ดิโอล่า แต่ในไม่ช้าก็ดีดตัวขึ้นมาและเริ่มเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งถึงฤดูกาล 2016-2017 เมื่ออีกหนึ่งภัยคุกคามอย่าง แอร์เบ ไลป์ซิก ถือกำเนิดขึ้นบนเวทีบุนเดสลีกา ช่องว่างระหว่างสองทีมมีเพียง 3 คะแนนเมื่อผ่านช่วงครึ่งทาง ก่อนทีมเสือใต้จะเร่งเครื่องเข้าป้ายด้วยผลงานส่วนใหญ่ของ ‘เลวี่’
ตามประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าประตูของ เลวานดอฟสกี้ มีส่วนช่วย บาเยิร์น มิวนิค ฟาดถาดแชมป์บุนเดสลีกาทุกฤดูกาล นับตั้งแต่ที่เขาย้ายมาสู่ถิ่น ‘อัลลีอันซ์ อารีน่า’ รวมถึงแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล อีก 3 สมัย และแน่นอนรวมถึง ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ซีซั่นที่ผ่านมาด้วย